วันอังคารที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555

เสริมความแข็งแรงเจ้าตัวเล็กด้วยโปรตีน

เสริมความแข็งแรงเจ้าตัวเล็กด้วยโปรตีน





เสริมความแข็งแรงเจ้าตัวเล็กด้วยโปรตีน

          หลังจากให้นมแม่อย่างเดียวอยู่ 6 เดือน และแล้วก็มาถึงวัยที่เจ้าตัวเล็กพัฒนาการมาถึงระดับนั่ง เอี้ยวตัว คืบคลาน ทีนี้ละนมแม่อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องเริ่มหาอาหารเสริมมาช่วยสร้างกล้ามเนื้อให้เขาแข็งแรงยิ่งขึ้นแล้วล่ะ

7 แหล่งโปรตีนสำคัญ

          หลังจากฝึกลูกให้คุ้นเคยกับอาหารจำพวกแป้ง ผัก ผลไม้แล้ว เมื่อหนูน้อยถึงวัย 7 เดือน กระเพาะอาหารจะแข็งแรงและทำงานได้ดีขึ้น คุณแม่จึงสามารถเริ่มให้โปรตีนเพิ่มขึ้นได้ แต่ก็ควรเริ่มจากอาหารที่ย่อยง่าย ๆ ก่อนนะคะ

 1.ปลา

ปลานึ่ง
          โดยเฉพาะปลาน้ำจืด เช่น ปลาช่อน ปลานิล ควรให้ลูกเริ่มกินปลาน้ำจืดก่อนปลาทะเล เพื่อหลีกเลี่ยงการแพ้อาหารทะเล ปลาเป็นแหล่งโปรตีนที่มีเส้นใยสั้น ๆ ไขมันต่ำย่อยง่าย ส่วนปลาทะเลเริ่มให้ได้เมื่อลูกอายุ 1 ปี สำหรับเด็กวัย 6-10 เดือน ควรปรุงปลาโดยการต้ม นึ่ง สำหรับการทอดเหมาะกับเด็กวัย 10-12 เดือนขึ้นไป ไม่ควรทอดจนกรอบแข็ง เพื่อให้ย่อยง่าย


 2.ถั่ว

ถั่วตุ๋น
          ถั่วเขียวซีก กะเทาะ เปลือกออก ตุ๋นใส่ข้าว เพื่อเป็นแหล่งให้พลังงานและเสริมโปรตีนจากพืช ถั่วเหลืองส่วนใหญ่ที่เหมาะกับการเป็นอาหารเสริมจะอยู่ในรูปของเต้าหู้อ่อนสำหรับถั่วเขียวซีกควรเริ่มให้เมื่ออายุ 6 เดือน และเริ่มให้เต้าหู้อ่อนประมาณ 8-10 เดือนขึ้นไป


 3.ตับหมู ตับไก่

ต้มตับหมู

สามารถตุ๋นกับข้าว เพื่อให้น้ำตับเพิ่มธาตุเหล็ก ใส่ในข้าวตุ๋นเป็นอาหารเสริมสำหรับเด็กวัย 6 เดือน ในปริมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ หากใส่มากอาจทำให้มีรสขม พอหนูน้อยอายุ 10-12 เดือน ให้ปั่นตับละเอียดผสมกับอาหารเพื่อเพิ่มโปรตีนจากตับ


 4.หมู

หมูบด
          เลือกใช้หมูสันในหรือหมูสันนอก เด็กวัย 6 เดือน เหมาะกับการนำมาทำเป็นน้ำซุปโดยช้อนน้ำมันออกเพื่อให้ย่อยง่าย สำหรับหนูน้อยวัย 7 เดือน แม่ ๆ อาจทำเป็นหมูสับหรือปั่นผสมในอาหาร พอลูกอายุ 10-12 เดือน สามารถใช้หมูสับหยาบหรือหมูหั่นชิ้นเล็กตุ๋นจนเปื่อย และให้ประมาณ 1 ช้อนชาแล้วค่อยเพิ่มเป็น 1-2 ช้อนโต๊ะ เมื่ออายุ 12 เดือน


 5.ไก่

ไก่สับ
          ควรใช้บริเวณที่เป็นสันในไก่ เพราะเด็กส่วนใหญ่ไม่แพ้โปรตีนจากไก่ เริ่มให้ได้ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ให้ทีละน้อย เพื่อให้อาหารมีส่วนกระตุ้นการสร้างน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร การปรุงอาหารที่เหมาะกับวัย 6-8 เดือน คือการต้มและปั่นละเอียดผสมในโจ๊กบด


 6.ไข่แดง

ไข่แดง

          เป็นแหล่งโปรตีนชนิดแรกที่เหมาะกับการเป็นอาหารเสริมตามวัยของเด็ก 6 เดือนขึ้นไป มีทั้งโปรตีน วิตามินเอ อี เลซิติน สารลูทีน ธาตุเหล็ก ช่วยบำรุงกล้ามเนื้อสายตา ผิวหนัง และความจำ เมื่อหนูน้อยอายุ 1 ปี ลูกสามารถกินไข่ทั้งฟองได้ การปรุงเมนูอาหารจากไข่ อาจต้มปั่นผสมในข้าวตุ๋น ซุป หรือทำไข่ตุ๋น ไข่เจียวแบบไม่มัน

 7.นม

นม
          ผลิตภัณฑ์จากนม นมผงดัดแปลงสูตรต่อเนื่อง เป็นนมดัดแปลงที่มีปริมาณโปรตีนสูงขึ้นและมีการเติมวิตามิน และแร่ธาตุลงไป เหมาะสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี ส่วนนมครบส่วนมีได้ทั้งที่เป็นนมผงและนมสดทั่วไป เช่น นม พาสเจอร์ไรส์ นมกล่อง ยูเอชที เหมาะสำหรับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป หากเป็นชีสและโยเกิร์ตสามารถปรุงโดยใช้กับพาสต้าหรือมันฝรั่งบดเหมาะสำหรับเด็กวัย 6 เดือน

Modern Mom’s Tip

          การให้โปรตีนเสริมในเด็กเล็กมักจะเริ่มทีละอย่าง เพื่อสังเกตการณ์ย่อย การแพ้อาหาร เมื่อเด็กคุ้นกับไข่แดง ปลา ไก่ หมู การให้ตับเสริมอาจให้ร่วมกับเนื้อสัตว์อื่น เช่น ไข่แดงกับตับ หมูกับตับ หรือปลากับตับ เป็นต้น

          แหล่งโปรตีนทั้ง 7 ที่เหมาะสำหรับการเสริมสร้างกล้ามเนื้อของเบบี๋นั้น เป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายตามท้องตลาด สำคัญอยู่ที่การเลือกให้เหมาะมากกว่า ดังนั้น การใส่ใจในการเลือกวัตถุดิบอย่างดี ก็เท่ากับเราได้คัดสรรสิ่งดี ให้ลูกแล้วค่ะ



ข้าวตุ๋นปลาช่อน


ล้างผักลดพิษ
ข้าวตุ๋นปลาช่อน
6-8 เดือน

 เครื่องปรุง

          ข้าวสวย ½ ถ้วย

          ปลาช่อน 1 ช้อนโต๊ะ

          น้ำต้มกระดูกหมู 2 ถ้วย

          ใบตำลึงใบอ่อน 10 ใบ

 วิธีทำ

          ตุ๋นข้าวสวยกับน้ำต้มกระดูกหมูพอสุกใส่ปลาช่อน ใบตำลึง คนให้สุก เทใส่โถปั่นจนละเอียด

          Tip :  หนูน้อยวัย 6-8 เดือน สามารถย่อยเนื้อสัตว์บดละเอียดได้ง่าย เขาต้องการพลังงานเพิ่มจากน้ำนมแม่ประมาณ 260-370 แคลอรี และโปรตีน 2.7-5.4 กรัมต่อวัน



มันบดใส่ชีส


มันบดชีส

8-10 เดือน

 เครื่องปรุง

          มันฝรั่งแบบผง ¼ ถ้วย

          ชีส ¼ แผ่น

          นมผงดัดแปลงสูตรสำหรับเด็ก 6 เดือน 2 ช้อน

          น้ำต้มสุก 4 ออนซ์

 วิธีทำ

          ละลายนมผงกับน้ำต้มสุก ตักมักฝรั่งผงลง คนให้เข้ากัน จากนั้นใส่ชีสแล้วคนให้เข้ากัน อุ่นในเตาไมโครเวฟ 1 นาที คนให้เป็นเนื้อเดียวกัน

          Tip :  อาหารเสริมของเด็กวัย 8-10 เดือน เริ่มมีความหยาบของเนื้อสัมผัส อาหารจึงมีความข้นมากขึ้น อาจใส่เนื้อปลา 1 ช้อนชาหรือไก่สับ 1 ช้อนชาเพื่อเพิ่มโปรตีน เพราะเด็กวัยนี้ต้องการพลังงานเพิ่มจากนมแม่ 370-450 แคลอรี หรือประมาณ 3-6 กรัมต่อวัน



ขนมปังไข่ม้วน


ขนมปังไข่ม้วน
10-12 เดือน

 เครื่องปรุง

          ไข่แดง 1 ฟอง

          ชีส ¼ แผ่น

          นมสด ¼ ถ้วย

          ขนมปังขาวตัดขอบ

 วิธีทำ

          ตีไข่แดงให้ฟู ใส่นมสดลงคนใส่ชีสหั่นเป็นชิ้นเล็ก อบในเตาไมโครเวฟ 1 นาที จนไข่สุกตักป้ายบนขนมปัง แล้วม้วนเป็นท่อนใช้มีดหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ

          Tip : เด็กวัย 10-12 เดือน เริ่มกินอาหารที่มีความหยาบ เนื้อสัตว์แบบนิ่มและไม่เหนียวชิ้นเล็กๆ ที่สามารถใช้มือหยิบจับใส่ปากได้ จะต้องการพลังงานเพิ่มจากน้ำนมแม่ประมาณ 450-650 แคลอรี ให้โปรตีน 3.5-6.2 กรัมต่อวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น