วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สารอาหารสำคัญเพื่อการบำรุงครรภ์คุณแม่






สารอาหารสำคัญเพื่อการบำรุงครรภ์คุณแม่


  คุณแม่อายุครรภ์ 0-3 เดือน

  กรดโฟลิก
     สารอาหารตัวนี้มีส่วนช่วยพัฒนาสมองและกระดูกสันหลัง
ของทารกรวมไปถึงระบบประสาทส่วนกลางด้วย กรดโฟลิก
ไม่สามารถเก็บสะสมไว้ในร่างกายได้ คุณแม่จึงควรได้รับ
สารอาหารชนิดนี้ทุกวัน โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ของการ
ตั้งครรภ์ค่ะ มีอยู่ในผักใบเขียว กล้วย ส้ม ธัญพืช เช่น ถั่วลิสง
และขนมปังโฮลวีต

  วิตามินซี
     ร่างกายไม่สามารถสะสมวิตามินซีไว้ได้เช่นกัน คุณแม่
จึงควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินตัวนี้ทุกวัน โดยการ
รับประทานผักและผลไม้สดๆ พยายามให้ผ่านกรรมวิธีการปรุง
น้อยที่สุด เพราะวิตามินซีจะสูญเสียง่ายจากการความร้อนและ
การเก็บไว้นาน วิตามินตัวนี้ช่วยให้รกแข็งแรง ช่วยสร้างภูมิ
ต้านทานโรค และช่วยให้การดูดซึมธาตุเหล็กเป็นไปได้ดีขึ้น
มีอยู่ในผลไม้ประเภทส้ม ฝรั่ง ซึ่งมีวิตามินซีสูงกว่ามะนาวถึง
4 เท่า มะขามป้อม ผลกีวี มะเขือเทศ แตงโม สับปะรด
มะละกอ ส้มโอ ผักใบเขียว เช่น ผักโขม ผักคะน้า บร็อกโคลี
กะหล่ำ

  วิตามินดี
     ร่างกายคุณแม่สามารถสร้างวิตามินตัวนี้ได้เอง เมื่อได้
รับแสงแดดอย่างเพียงพอ นอกจากแสงแดดแล้ว ปลา นม
ไข่แดง เนย ก็เป็นอีกแหล่งที่มีวิตามินนี้อยู่

  วิตามินบี 12
     วิตามินนี้มีความจำเป็นต่อการสร้างและพัฒนาสมอง
และระบบประสาทของทารกในครรภ์ มีอยู่ในเนื้อสัตว์ ปลา
ไข่ เนื้อสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ ฯลฯ ซีเรียล ยีสต์ บางชนิด

  ไขมัน
     20% ของไขมันเป็นส่วนที่ครอบคลุมสมองและยังมี
ส่วนในการพัฒนาระบบประสาท หากคุณแม่ขาดไขมันตัวนี้
ร่างกายจะแสดงออกมาในอาการผิวแห้ง ผมเสีย เล็บเปราะ
และน้ำหนักน้อยค่ะ มีอยู่ใน น้ำมันพืช ถั่ว เมล็ดพืช งา
น้ำมันปลา เมล็ดทานตะวัน


  คุณแม่อายุครรภ์ 3-6 เดือน
     เป็นช่วงที่ทารกกำลังเจริญเติบโตเร็วที่สุดช่วงนึ่ง อวัยวะ
ต่างๆ ก็สมบูรณ์มากขึ้นเพราะฉะนั้นการบำรุงร่างกายด้วย
สารอาหารให้ครบ ทุกหมู่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่ละเลย
ไม่ได้ มาดูกันว่าช่วงนี้คุณแม่ต้องทานอะไรมากเป็นพิเศษ

 โปรตีน
     กรดอะมิโนในโปรตีนจะช่วยเสริมสร้างส่วนต่างๆของ
ร่างกายลูก โปรตีนจึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์
และเนื้อเยื่อ ซึ่งจะประกอบเป็นกล้ามเนื้อ กระดูก และอวัยวะ
ภายในต่างๆ คุณแม่จึงต้องรับประทานโปรตีนทุกวัน และ
เพิ่มขึ้นกว่าปกติจาก 45-60 กรัมต่อวัน เป็นประมาณ
75-100 กรัมต่อวัน มีอยู่ใน อาหารประเภทเนื้อสัตว์จะมี
โปรตีนสูงสุด แต่ก็มีไขมันสัตว์ค่อนข้างสูงด้วย ขอแนะนำ
โปรตีนจากเนื้อปลาเพราะให้โปรตีนสูง มีวิตามิน น้ำมันปลา
และไขมันต่ำ ส่วนพืชตระกูลถั่วก็ให้โปรตีนสูงเช่นกันค่ะ

  เหล็ก
     แม่ตั้งครรภ์ต้องการเหล็กมากขึ้นสำหรับผลิตเลือดเพื่อ
นำออกซิเจนไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งรกด้วย
คุณจึงควรรับประทานธาตุเหล็กให้เพียงพอตลอดการ
ตั้งครรภ์แต่ร่างกายจะดูดซึมเหล็กได้ดีก็ต้องอาศัยวิตามินซี
เป็นตัวช่วย ฉะนั้นคุณแม่จึงต้องทานอาหารที่มีวิตามินซี
ร่วมกันไป หากขาดธาตุเหล็กคุณแม่จะรู้สึกเหนื่อยง่าย
มีอยู่ใน หมูเนื้อแดง เครื่องในสัตว์ ตับ ไข่ เนื้อปลา ไข่แดง
ใบชะพลู ใบตำลึง ใบขี้เหล็ก ใบกะเพรา งา ชะอม

 ไฟเบอร์
    ในระยะนี้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมี
ผลต่อการยืดขยายตัวของกล้ามเนื้อทางเดินอาหาร และ
การกดทับของลำไส้เนื่องจากมดลูกโตขึ้น อย่าปล่อยทิ้งไว้
เพราะนั่นจะเป็นสาเหตุของโรคริดสีดวงทวารค่ะ มีอยู่ใน
ข้าวกล้องและถั่ว ขนมปังโฮลวีต ผักและผลไม้

 คุณแม่อายุครรภ์ 6 ถึง 9 เดือน
     เป็นช่วงที่ทารกในครรภ์เจริญเติบโตเร็วที่สุด ทั้ง
ระบบประสาท อวัยวะภายในสมอง เรียกว่าทุกส่วนของ
ร่างกายกำลังพัฒนาจนสมบูรณ์เต็มที่ พร้อมที่จะทำงาน
ทันทีหลังคลอดค่ะ สารอาหารที่จำเป็นของแม่และลูกใน
ช่วงไตรมาสนี้ก็คือ

 แคลเซียม
    ทารกต้องการแคลเซียมในปริมาณสูงเพื่อสร้างเซลล์
กระดูก ฟัน เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ เซลล์ประสาท และ
เกล็ดเลือด ยิ่งในช่วง 10 สัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์
ลูกอ่อนต้องการแคลเซียมมากเป็นพิเศษเพื่อสร้างรากฐาน
ดังกล่าวของร่างกาย หากคุณแม่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ
ลูกจะดึงแคลเซียมจากร่างกายแม่ไปใช้ โอกาสที่กระดูก
และฟันของคุณแม่จะไม่แข็งแรงจะมีสูงเมื่ออายุมากขึ้นค่ะ
มีอยู่ใน นม และผลิตภัณฑ์จากนม โยเกิร์ต เนย กะหล่ำ
ปลาเล็กปลาน้อย ฝรั่ง เมล็ดทานตะวัน

 วิตามิน เอ
    เป็นวิตามินอีกชนิดที่สำคัญสำหรับการตั้งครรภ์ใน
ไตรมาสสุดท้าย เพราะจำเป็นต่อพัฒนาการที่เจริญเติบโต
ของร่างกายทารก มีอยู่ใน ไข่ เนย นม เครื่องในสัตว์
ผักใบเขียว ฟักทอง แครอต มะม่วง มะเขือเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น